Last updated: 21 ต.ค. 2560 | 32949 จำนวนผู้เข้าชม |
อัตลักษณ์แห่งสถาปัตยกรรม
ย่านเมืองเก่าจังหวัดสงขลา มีสถาปัตยกรรมการก่อสร้างรูปแบบอาคารบ้านเรือนที่ได้รับการผสมผสานศาสตร์แห่งเชิงช่างโบราณอันมีเสน่ห์หลอมรวมวัฒนธรรมทั้งไทย จีน มุสลิม และตะวันตก ไว้ให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสความงดงาม โดยในพื้นที่ย่านเมืองเก่ามีรูปแบบสถาปัตยกรรม 4 ชนิด ดังนี้
1. ตึกแถวแบบจีนดั้งเดิม
สร้างในช่วงปี พ.ศ.2379 ซึ่งเป็นช่วงแรกในการตั้งเมืองสงขลา รูปแบบสถาปัตยกรรมจะมีส่วนหน้าค้าขาย ด้านบนใช้เก็บของ มีช่องส่งของเล็ก ๆ มีความยาวจากที่ดินประมาณ 30 - 40 เมตร และเนื่องจากเป็นแปลงดินที่ยาว ผู้ออกแบบจึงได้ออกแบบให้มีช่องเปิดโล่ง (Court) กลางส่วนอาคารด้านหลังเป็นที่พักอาศัย กรมศิลปากรได้ระบุว่าห้องแถวแบบจีนหลังแรกของสงขลาตั้งอยู่บนถนนเก้าห้อง (ถนนนางงาม)
2. ตึกแถวแบบจีนพาณิชย์
ลักษณะเป็นอาคารถัดมาจากรูปแบบจีนดั้งเดิม การออกแบบมีอายุประมาณ 70 ปีขึ้นไป รูปแบบกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมคล้ายแบบจีนดั้งเดิมแต่ประยุกต์ให้ทันสมัยขึ้น ลักษณะที่สองเป็นอาคารตอบสนองทางการค้า ไม่มีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรรม
3. ตึกแถวแบบจีนสมัยใหม่
ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก อาคารอยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 30 ปี ขึ้นไป มีแผงปกปิดหลังคา และจะมีอักษรแสดงปี พ.ศ. ปรากฏบนแผงดังกล่าว บางหลังมีหลังคาจั่ว หรือปั้นหยาซ้อนอยู่ บางหลังเป็นหลังคา คสล. ส่วนใหญ่มักมีตั้งแต่ 2-4 ชั้น
4. ตึกแถวแบบสงขลาดั้งเดิม (ชิโน-ยูโรเปี้ยน)
มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ประดับตกแต่งด้วยลวดลายแบบจีน และยุโรปผสมกันคล้ายกับรูปแบบที่เรียกว่าชิโนโปรตุกิสซึ่งพบมากที่ภูเก็ต แต่ที่สงขลาจะไม่มีทางเดินใต้อาคารที่เรียกว่า หงอคากี่ อาคารจะมีช่องเปิดกลางอาคารและเป็นที่ตั้งของบ่อน้ำ ซึ่งในอดีตน้ำดื่มจะมีรสจืดสะอาดจนสามารถดื่มได้
ขอบคุณข้อมูลจาก ดร.จเร สุวรรณชาต
27 ก.ค. 2562
12 เม.ย 2562