Last updated: 27 ก.ค. 2562 | 30781 จำนวนผู้เข้าชม |
กำแพงเมืองสงขลาเริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.2379 เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) เจ้าเมืองสงขลาย้ายที่ตั้งเมืองสงขลาจากบริเวณบ้านแหลมสน ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร มาสร้างเมืองใหม่บริเวณตำบลบ่อยางในปัจจุบัน
เมืองสงขลาฝั่งบ่อยางมีภูมิประเทศเป็นแหลมทราย ชัยภูมิเป็นที่ราบ ไม่มีแนวภูเขาเป็นป้อมปราการเหมือนเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงและเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน จึงจำเป็นต้องสร้างกำแพงเมือง ป้อมและประตู โดยสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2385
กำแพงเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยหินศิลาแดงสอปูน สูง 5.5 เมตร หนา 4 เมตร ส่วนความด้านทิศเหนือ 400 เมตร ทิศใต้ยาว 500 เมตร ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกยาว 1,200 เมตร รวมทั้ง 4 ด้าน ยาวประมาณ 3,300 เมตร มีป้อม 8 ป้อม และ 10 ประตู โดยได้รับรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบจีน หินแดงซึ่งถือเป็นวัสดุหลักที่ใช้ในการก่อสร้างได้ขนย้ายมาจากเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง บนกำแพงประดับประดาด้วยอิฐโบราณนำเข้าจากประเทศจีน
กำแพงเมืองสงขลาได้รับการซ่อมแซมมาโดยตลอด จนกระทั่งในสมัยเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ครั้งเมื่อเป็นพระวิจิตรวรสาสน์ ข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลา เมืองพัทลุง เมืองนครศรีธรรมราชและเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช (พ.ศ.2437 - 2448) ได้รื้อกำแพงเมืองส่วนใหญ่เพื่อขยายถนนและปรับปรุงตัวเมืองให้กว้างขวางมากขึ้น โดยใช้อิฐและหินจากการรื้อกำแพงส่วนใหญ่มาถมถนน จึงทำให้กำแพงที่เคยล้อมรอบเมืองยาวประมาณ 3,300 เมตร เหลือไม่ถึง 200 เมตร
ภาพเปรียบเทียบกำแพงและประตูเมืองในอดีตกับปัจจุบัน
โบราณสถานแห่งนี้ตั้งตระหง่านอยู่คู่เมืองสงขลามากว่า 177 ปี (พ.ศ.2385 - 2562) ปัจจุบันคงเหลือเพียงกำแพงบางส่วน และที่มีสภาพสมบูรณ์คือกำแพงด้านทิศเหนือบริเวณริมถนนจะนะ ซึ่งเหลือความยาวประมาณ 144 เมตร ที่นี่นับว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่หนึ่งที่ไม่ควรพลาด ใครแวะมาเมืองสงขลาขอแนะนำให้ได้มาชม มาระลึกนึกย้อนถึงการก่อสร้างบ้านเมืองในอดีตและมาถ่ายรูปคู่กับกำแพงเมืองสงขลา ยิ่งถ้ามาในวันศุกร์หรือวันเสาร์ ช่วงแดดร่มลมตกตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป จะเป็นช่วงเวลาที่สุดพิเศษเพราะนอกจากจะได้ชมความงามของกำแพงเมืองสงขลาแล้ว ยังจะได้ชิมของหรอยและชอปของเก๋ในถนนคนเดิน "สงขลาแต่แรก" ซึ่งจะอยู่เคียงคู่ขนานกับกำแพงเมืองสงขลาไปตลอดแนว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
ขอขอบคุณภาพแผนผังเมืองโบราณและภาพถ่ายมุมสูง จากหนังสือ สงขลา เมืองสองเล เสน่ห์เหนือกาลเวลา โดย สำนักงานเทศบาลนครสงขลา ถ่ายโดยคุณอิทธิพล ทองแป้น
ขอขอบคุณคุณครูจรัส จัทร์พรหมรัตน์ ที่เอื้อเฟื้อภาพกำแพงเมืองเก่า
เรียบเรียงและถ่ายภาพโดย คุณครูศิษฐวุฒ จันทรกรานต์ โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา