พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

Last updated: 12 เม.ย 2562  |  24313 จำนวนผู้เข้าชม  | 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา



ประวัติพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
 
อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา เป็นโบราณสถานของชาติ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบจีนผสมตะวันตก อายุกว่า 100 ปี เดิมเป็นคฤหาสน์ของ พระยาสุนทรานุรักษ์(เนตร ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ต่อมาได้ถูกใช้เป็นสถานที่ของหน่วยงานต่างๆ อาทิ
พ.ศ.2437 ใช้เป็นที่พำนักและว่าราชการของพระยาวิจิตรวรศาสตร์ ข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลา ต่อมาก็คือ เจ้าพระยายมราช(ปั้น สุขุม)
พ.ศ.2496 ใช้เป็นศาลาว่าการมณฑลนครศรีธรรมราช และเป็นศาลากลางจังหวัดตามลำดับ
พ.ศ.2516 กรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนอาคารแห่งนี้เป็นโบราณสถาน และปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑสถานของชาติ
วันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2525 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพวรางกูล ในหลวงรัชกาลที่ 10 ครั้งดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา เพื่อให้เป็นสถานที่จัดแสดงศิลปวัตถุภาคใต้ตอนล่าง และเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ ชาติพันธุ์วิทยา ศิลปะจีน ศิลปะพื้นบ้านพื้นเมือง นอกจากนี้ ยังจัดแสดงศิลปโบราณวัตถุที่เกี่ยวกับตระกูล ณ สงขลา ซึ่งเป็นตระกูลเจ้าเมืองสงขลาในอดีตด้วย



ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนผสมยุโรป สร้างเป็นตึกก่ออิฐ สอปูน 2 ชั้น บ้านหันหน้าไปทางทิศตะวันตก หันหน้าสู่ทะเลสาบสงขลา ลักษณะตัวบ้านยกสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร ปลูกเป็น เรือนหมู่ 4 หลัง เชื่อมติดกันด้วยระเบียงทางเดิน มีบันไดขึ้น 2 ทาง คือด้านหน้าและตรงกลาง ลานด้านใน กลางบ้านเป็นลานเปิดโล่ง สำหรับปลูกต้นไม้หรือการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ด้านหน้าอาคารมีสนามและมีอาคารโถงขนาบสองข้าง ด้านหลังมีสนามเช่นเดียวกัน พื้นที่โดยรอบอาคารเป็นสนามหญ้าและสวนมีกำแพงโค้งแบบจีนล้อมรอบ อาคารชั้นบน ห้องยาวด้านหลัง มีบานประตูลักษณะเป็นบานเฟี้ยม แกะสลักโปร่งเป็นลวดลายเล่าเรื่องในวรรณคดีจีน สลับลายพันธุ์พฤกษา หรือลายมังกรดั้นเมฆ เชิงไข่มุกไฟ ส่วนหัวเสาชั้นบนของอาคารมีภาพเขียนสีเป็นภาพเทพเจ้าจีน หรือลายพฤกษา ภายในห้องตรงขื่อหลังคา จะมีเครื่องหมายหยินหยาง โป้ยป้อ หรือ ปากั้ว เพื่อป้องกันภยันตรายต่าง ๆ ตามคตินิยมของชาวจีน หลังคามุงกระเบื้องสองชั้นฉาบปูนเป็นลอน สันหลังคาโค้ง ปลายทั้งสองด้านเชิดสูงคล้ายปั้นลมของเรือนไทย ภายนอกอาคาร บริเวณผนังใต้จั่วหลังคา มีภาพประติมากรรมนูนต่ำสลับลาย ภาพเขียนสี เป็นรูปเทพเจ้าจีนและลายพันธุ์พฤกษา

อาคารจัดแสดงมี 2 ชั้น
ชั้นล่าง แบ่งการจัดแสดงเป็น 8 ส่วน ได้แก่
วิถีชีวิตสงขลา
ภูมิลักษณ์คาบสมุทรสงขลา
สงขลายุคก่อนประวัติศาสตร์
สงขลาสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์
เมืองสงขลาหัวเขาแดง
เมืองสงขลาแหลมสน
เมืองสงขลาบ่อยาง
สงขลาย้อนยุค



ชั้นที่ 2 มีห้องจัดแสดง 5 ห้อง ได้แก่
ความสัมพันธ์ทางการค้ากับต่างประเทศ
บันทึกสงขลา
ศิลปกรรมสงขลา
ประวัติศาสตร์โบราณคดีภาคใต้ตอนล่าง
สุนทรียภาพในวิถีชีวิตของชาวภาคใต้ตอนล่าง



รู้จักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ให้มากยิ่งขึ้นผ่านรายการ “กระจกหกด้าน” ตอน “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา”ออกอากาศวันที่ 18 พ.ค. 2559
  

 


ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ถนนวิเชียรชม อยู่ตรงข้ามกำแพงเมืองจังหวัดสงขลา อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
เวลาทำการ
วันทำการ วันพุธ - วันอาทิตย์
สำนักงาน เวลา 08.30 – 16.30 น.
อาคารจัดแสดง เวลา 09.00 – 16.00 น.
วันหยุด วันจันทร์ - วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์
ค่าธรรมเนียมเข้าชม
ชาวไทย คนละ 30 บาท
ชาวต่างชาติ คนละ 150 บาท
พระภิกษุ สามเณร นักเรียน,นักศึกษาในเครื่องแบบ ไม่เก็บค่าธรรมเนียมเข้าชม

Facebook https://www.facebook.com/songkhlanationalmuseum

Youtube : Songkhla National Museum
https://www.youtube.com/channel/UCGOYmQssV2MP13LFwo2P8NA/videos

ขอขอบคุณข้อมูลจาก 
https://www.paiduaykan.com/province/south/songkhla/songkhlamuseum.html
https://thai.tourismthailand.org
http://www.museumthailand.com/th/museum/Songkhla-National-Museum

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้