Last updated: 29 มี.ค. 2561 | 11822 จำนวนผู้เข้าชม |
“พัทลุงมีดอน นครฯ มีท่า ตรังมีนา สงขลามีบ่อ” เป็นคำคล้องจองที่กล่าวถึงลักษณะทางภูมิประเทศของสี่เมืองพี่เมืองน้อง ของดินแดนทักษิณ ที่รู้จักกันเป็นอย่างดี
ในที่นี้จะขอกล่าวถึงแต่เพียง “สงขลามีบ่อ” ว่ามีที่มาอย่างไร เพื่อเสริม “สีสัน...สงขลา” ด้วยเหตุว่า ชื่อตำแหน่งแห่งที่ ๆ สำคัญ ๆ ในเมืองสงขลาตั้งแต่เดิมมาจนปัจจุบันนั้น ส่วนมากจะขึ้นต้นด้วยคำว่า “บ่อ” เช่น
ในตัวเมืองสงขลา ได้แก่ บ่อยาง - บ่อพลับ – บ่อหว้า
อำเภอระโนด ได้แก่ บ่อตรุ
อำเภอสทิงพระ ได้แก่ บ่อโด – บ่อดาน - ย่านบ่อแดง
อำเภอสิงหนคร ได้แก่ บ่อทรัพย์ - บ่อเก๋ง – บ่อสระ – บ่อป่า – บ่อหิน – บ่อหมาเลีย -บ่อทราย
อำเภอกระแสสินธุ์ ได้แก่ บ่อท่อ ขอยกตัวอย่างแต่เพียงพื้นที่แผ่นดินบก เป็นสำคัญ
ตัวเมืองสงขลาแต่แรกนั้น ใครจะไปในตัวเมือง จะบอกว่า “ไปบ่อยาง” ไม่นิยมพูดว่า “ไปสงขลา” อย่างในปัจจุบัน (เช่นเดียวกับไปเมืองตรัง จะเรียกว่าไป “ทับเที่ยง” ไปสุราษฎร์ธานี จะเรียกว่า ไป”บ้านดอน” หรือไปกรุงเทพฯ ก็บอกว่า ไป “บางกอก”)
ภาพบ่อน้ำภายในวัดยางทอง
นามสถานว่า “บ่อยาง” ในตัวเมืองสงขลานั้น หมายถึง บ่อน้ำภายในวัดยางทอง ซึ่งอยู่ห่างจากเสาหลักเมืองสงขลาไปทางทิศเหนือไม่มากนัก และถือเป็นตำบลที่ตั้งเมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง ของเมืองสงขลายุคปัจจุบัน
ว่าด้วยเรื่องบ่อน้ำในสงขลา ชาวบ้านจะแบ่งประเภทบ่อต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ขอยกตัวอย่างบ่อน้ำในเกาะยอ ซึ่งอาจแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 4 แบบ คือ
บ่อสระ นิยมขุดในวัด เป็นบ่อขนาดใหญ่ ถือเป็นสมบัติของทุกคนในท้องถิ่น
บ่อหาบ เป็นบ่อประจำหมู่บ้าน มักใช้เพื่อการเกษตร เวลาต้องการใช้น้ำจะลงไปตักด้วยการหาบปี๊บบนบ่า แล้วย่อตัวลง ตะแคงปี๊บ น้ำก็จะเข้าไปในปี๊บทั้งสองข้าง บ่อแบบนี้จึงต้องมีขั้นบันไดจากขอบบ่อลงไปในบ่อเพื่อสะดวกในการลงไปตักน้ำ ขอบบ่อนิยมปลูกต้นคล้า และปลูกขนำเล็กๆ เรียกว่า “ลูกหนำ” ไว้พักผ่อนและเฝ้าสวน
บ่อตัก เป็นบ่อน้ำที่ขุดไว้สำหรับใช้น้ำเพื่อการบริโภค โดยเฉพาะดื่มกินในครัวเรือน บ่อแบบนี้ มักจะขุดเป็นบ่อเล็ก ๆ มีฝาปิด การขุดบ่อให้มีขนาดเล็กนี้ เพื่อให้น้ำหมดเร็วเป็นการเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อย ๆ ซึ่งจะได้น้ำใหม่ ที่มีรสชาติดี สะอาดปราศจากโรค
บ่อซับ เป็นบ่อน้ำที่ซึมซับออกมาทีละนิดละน้อย แต่ไม่เคยแห้งเหือด มาภายหลังเรียก บ่อทรัพย์ ด้วยเล่ากันว่ามีสมบัติอยู่ในบ่อ ลือกันว่าตอนญี่ปุ่นบุกสงขลา มีคนเอาสมบัติทิ้งไว้ในบ่อเพื่อซ่อนด้วยความกลัว
ภาพบ่อน้ำในสงขลา
ความสำคัญของบ่อน้ำในสงขลานี้ มีเหตุการณ์ที่ต้องบันทึกไว้เป็นหมายเหตุของแผ่นดิน คือ การประกอบพิธี “พลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ และพิธีเสกน้ำทำน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อทูลเกล้าฯถวายในการพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2530” ซึ่งในการสำคัญยิ่งครั้งนั้น มีการนำน้ำจากแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยกำหนดว่า “เป็นน้ำจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนเลื่อมใส หรือจากแหล่งน้ำเส้นชีพที่สำคัญของจังหวัด” เพื่อเข้าประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ เป็นน้ำสำหรับทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ภาพบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดแหลมบ่อท่อ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา
ในครั้งนั้น เมืองสงขลา กำหนดให้เป็นน้ำจาก “บ่อ” และ บ่อที่ได้รับการพิจารณาให้นำน้ำไปประกอบพิธีอันสำคัญนี้ คือน้ำจาก “บ่อท่อ” ตั้งอยู่ที่หน้าวัดแหลมบ่อท่อ หมู่ที่ 4 ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา
บ่อท่อ นี้ ชาวบ้านย่านนั้นถือเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์มาแต่ครั้งโบราณ มีตำนานเล่าขาน และรับรู้กันหลายเรื่อง เช่น คนป่วยไข้กินแล้วหาย ใครผ่านทางไปไหนมาไหน หากนำน้ำไปลูบหน้าลูบตา ลูบศีรษะ จะประสบแต่โชคชัย ในการเดินทาง ประมาณว่าเหมือน ๆ กับน้ำมนต์ อย่างนั้น จนมีคำกล่าวติดปากเด็ก ๆ ในย่านนั้นว่า “อาบน้ำบ่อวัดสวัสดี” บางกระแสเล่าเป็นตำนานว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จประพาสปักษ์ใต้ และประทับแรม ณ เกาะสี่เกาะห้า กลางทะเลสาบสงขลา ก็มีการนำน้ำจากบ่อท่อนี้ ไปใช้ประกอบกิจ ในคราเสด็จครั้งนั้นด้วย
เรื่องราวในท้องถิ่น บางเรื่องแม้จะไม่มีหลักฐานบันทึก แต่ประวัติศาสตร์บอกเล่าจากชาวบ้านเจ้าของพื้นที่ ก็เป็นประเด็นที่ควรรับฟัง และสืบค้นหาข้อเท็จจริงต่อไป
ขอขอบคุณบทความและภาพจาก อ.วุฒิชัย เพ็ชรสุวรรณ
ขอบคุณภาพวัดแหลมบ่อท่อ จาก Google Street View